วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมีร่องรอยว่าได้เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน  ไม่แพ้แหล่งอื่น  ๆ  ของโลก  ได้มีการขุดค้นพบเครื่องมือหินเก่า  และเครื่องมือหินใหม่ในบางส่วนของประเทศ  เช่น  ที่กาญจนบุรี  และในบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ  นอกจากนั้นยังได้ค้นพบเครื่องสำริดซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องสำริดรุ่นแรกที่บริเวณโนนนกทาห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  86 กิโลเมตร การกำหนดอายุโดยพิสูจน์คาร์บอน 14 ปรากฏว่าเครื่องสำริดดังกล่าวมีอายุ 4,275 ปีมาแล้วถ้าอายุของเครื่องสำริดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับ ก็หมายความว่าเครื่องสำริดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้นเก่าแก่กว่าเครื่องสำริดในจีนและอินเดีย 
         ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ผาแต้ม ริมฝั่งโขง จ. อุบลราชธานี
  การขุดค้นทางโบราณคดีในระยะ  20 ปี ที่ผ่านมา ได้ค้นพบแหล่งความเจริญในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยที่สำคัญ 2  แห่ง  คือที่บ้านเก่า  ตำบลจระเข้เผือก  อำเภอเมือง  จังหวัดกาญจนบุรี  และที่บ้านเชียงในเขตอำเภอหนองหาร  จังหวัดอุดรธานี  ซึ่งเราจะเรียกแหล่งความเจริญนั้นว่าวัฒนธรรมบ้านเก่าและวัฒนธรรมบ้านเชียงตามลำดับ
วัฒนธรรมบ้านเชียง   เป็นวัฒนธรรมของคนก่อนประวัติสาสตร์สมัยหินใหม่ตอนปลายและสมัยโลหะ  ได้มีการขุดพบเป็นครั้งแรกเมื่อ  พ.ศ.   2510 พบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผาหม้อลายเขียนสีและลายเชือกทาบ เครื่องประดับมีกำไลแขนทำด้วยสำริด ลูกปัดทำด้วยแก้ว ในปี พ.ศ.  2515 ได้มีการขุดค้นอีก ได้พบโบราณวัตถุซึ่งเป็นประโยชน์ทางวิชาการมาก ต่อมาใน พ.ศ. 2517 และ 2518 มีการขุกค้นเพิ่มเติม โดยกรมศิลปากรร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียแห่งสหรัฐอเมริกา
  การขุดค้นที่บ้านเชียง  อ.หนองหาร  จ.อุดรธานี  พบโครงกระดูกมนุษย์ และหม้อลายเขียนสี

                           อาจารย์พิสิฐ   เจริญวงศ์  และนายเซสเตอร์  กอร์แมน  ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย  ให้ข้อสรุปจากผลของการขุดค้นในระยะ  2  ปีกว่า  คนสมัยก่อนประวัติสาสตร์ที่สร้างวัฒนธรรมบ้านเชียงนี้เป็นนักประดิษฐ์ที่มีเทคนิค  จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นสังคมที่ก้าวหน้าอย่างน่าพิศวงเมื่อเทียบกับอายุซึ่งเก่าแก่ถึง  4,000  ปีก่อนคริสต์กาล  ชาวบ้านเชียงรุ่นแรกๆได้ปรับตัวเข้ากับวิธีการกสิกรรมในที่ลุ่มแล้ว  คนเหล่านี้เชี่ยวชายในการล่าสัตว์และทำเครื่องปั้นดินเผา  ในระยะต่อมารู้จักประดิษฐ์เครื่องสำริด  วัตถุสำริดมีอยู่มากมาย  เครื่องมือประเภทอาวุธเกือบไม่มีเลย  พิธีการฆ่าสัตว์ในงานปลงศพซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในบริเวณขุดค้นเป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของบริเวณนี้